ตำนานการกินเจ
|
มาถือศิล กินผัก ในเทศกาลกินเจกันเถอะ
| การกินเจ มีมาตั้งแต่บรรพกาล ซึ่งชาวจีนถือปฎิบัติเป็นประเพณีสืบต่อกันมาช้านาน เทศกาลกินเจจะเริ่มตั้งแต่ ๑ ค่ำ ถึง ๙ ค่ำ เดือน ๙ นับตามปฏิทินจีน ซึ่งจะตรงกับเดือนตุลาคมของไทยเรา ตามตำนานเล่าว่า เมื่อเล่าจื๊อ ศาสดาแห่งลัทธิเต๋าเกิดขึ้นได้ถือพรตของลัทธิเต๋าแต่นั้นมา เมื่อก่อนนั้น การกินเจไม่มีการกำหนดว่าจะกินกันเมื่อไร แต่ถือเอาความสะดวกของผู้กิน จะกินวันไหน เดือนไหนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ผู้คนนิยมกินเจในช่วงไว้ทุกข์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการปฎิบัติตนในทางที่ดีงาม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย ต่อมาเมื่อเกิดกบฏไท้เผ้ง ซึ่งชาวจีนได้รวมตัวกันเพื่อต่อต้านและหวังกอบกู้แผ่นดินจากพวกแมนจู ผู้ก่อการกบฏ ถูกจับประหารชีวิต ยังความโศกเศร้า เสียใจให้กับชาวจีนจึงร่วมกันปฎิบัติธรรม โดยกินเจและถือศิล เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ถูกประหารชีวิต การกินเจจึงถูกกำหนดให้เป็นเทศกาลตั้งแต่นั้นมา เมื่อถึงเทศกาลกินเจ ชาวจีนจะนุ่งขาวห่มขาว เพื่อแสดงถึงการตัดกิเลสจากโลกภายนอก ถือศิล กินเจ โดยปฏิบัติดังนี้ 1. งดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ อันเป็นเหตุให้ไม่ต้องแสวงหาเนื้อสัตว์ หรือทำอันตรายต่อชีวิตสัตว์ ไม่เบียดเบียนสัตว์ในทุกกรณีรวมทั้งน้ำนมและน้ำมัน ที่มาจากสัตว์อีกด้วย 2. รักษาศีลห้าและรักษาพรหมจรรย์ 3. ทำบุญทำทาน 4. รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ 5. แต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายสีขาว 6. งดเว้นผักที่ให้กลิ่นแรงต่างๆ เช่น ผักชี กระเทียม หัวหอม ต้นหอม กุยช่าย เพราะถือว่าเป็นสิ่งกระตุ้นอารมณ์ เมื่อการกินเจกำหนดเป็นเทศกาลขึ้น และมีกำหนดถึง ๙ วัน ทำให้เทศกาลกินเจขยายใหญ่ขึ้นทุกที จนกลายเป็นงานที่ใหญ่และสำคัญอีกอย่างหนึ่งของชาวจีน งานการกุศลต่างๆ จึงมารวมกันในเทศกาลนี้ เช่น การทิ้งกระจาด การลอยกระทง สิ่งเหล่านี้ถูกนำเข้ามาทีหลังเพื่อเสริมให้เทศกาลกินเจดูยิ่งใหญ่ขึ้น | |||||||||||||||||||||||||||||||
เทศกาลกินเจของเมืองไทย
| ||||||||||||||||||||||||||||||||
ในพิธีกรรมสักการบูชาพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก ๒ พระองค์นี้ สาธุชนในพระพุทธศาสนาต่างสละเวลาและกิจทางโลกมาบำเพ็ญศีล ตั้งปณิธานกินเจ บริโภคแต่อาหารผลไม้ งดเว้นอาหารเนื้อสดของคาวด้วยการสมทานรักษาศีล และเพื่อซักฟอกมลทินออกจากร่างกาย วาจา ใจ ต่างสวมเสื้อผ้าสีขาวสะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากจุดด่างพร้อย พากันเดินทางสู่วัดอารามพร้อมด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ไปนมัมสการน้อมบูชา แด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์ อีกทั้งพระมหาโพธิสัตว์ ๒ พระองค์ พร้อมจัดหาเครื่องกระดาษทำเป็นรูปทรงเสื้อผ้า,หมวด, รองเท้า, กระดาษเงินกระดาษทองต่างๆ ไปน้อมถวายเป็นเครื่องสักการะ เป็นกุศลสมาทาน
ดั้งนั้นเชื่อกันว่า ในช่วงนี้ถ้าใครถือศิลกินเจพร้อมตั้งจิตอธิษฐานขอพรอันใดก็จะได้สมปรารถนา นอกจากนี้ คนที่กินเจยังนิยมไปไหว้เจ้าตามศาลเจ้าเพื่อขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คุ้มครอง ซึ่งศาลเจ้าในกรุงเทพฯ ที่ตนนิยมไปไหว้ อาทิ วัดเล่งเน่ยยี่(วัดมังกรกมลาวาส), ศาลเจ้าไต้ฮงกง ตรงข้ามสน.พลับพลาไชย, โรงเจชิกเชี้ยม่า ตลาดน้อย, โรงเจเตี่ยชูหั้ง สำเพ็ง เป็นต้น เทพเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ของชาวพุทธฝ่ายมหายานนั้น ทรงมีอิทธิฤทธิ์ และมีศาสตราวุธสำหรับคุ้มครองมนุษย์ต่างๆ กันไป บ้างถือแซ่ บ้างถือเหล็กแหลม ลูกตุ้มหนาม มีด หอก ดาบ และกริซ เมื่อเสด็จออกโปรดสัตว์ผ่านร่างของม้าทรงในเทศกาลกินเจ จึงต่างแสดงอภินิหารให้เป็นที่ปรากฏ ภาพที่เราเห็นม้าทรงกระทำทุกข์ทรมานร่างกายแท้ที่จริงคือ เทพเจ้าแสดฤทธิ์เดช และรับเอาความเจ็บปวดนั้นไปแทนจึงปรากฏเรื่องเล่าอยู่เสมอว่า บาดแผลของเหล่าม้าทรงจะหายไปในเวลาไม่นาน กระทั่งบางร่างทรงตัดลิ้นตนเองขาดไปนานนับชั่วโมง ก็ยังสามารถต่อลิ้นกลับไปได้ดังเดิม อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะมาเป็นม้าทรงได้ ขึ้นอยู่กับการบัญชาของเทพเจ้า บางคนมีประวัติว่าตกต้นไม้สูงลงมาแต่ไม่ตาย พอฟื้นจากสลบก็รู้ตัวว่าเทพเจ้ามาช่วยชีวิตไว้ จึงต้องรับใช้เทพเจ้าด้วยการเป็น "ม้าทรง" แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเขาจะต้องรักษากายใจให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ แน่นอนว่าจะต้องเคร่งครัดกว่าคนธรรมดา มิฉะนั้นเทพเจ้าก็อาจเลิกใช้ร่างนี้เป็นม้าทรงอีกต่อไป เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องของความเชื่อถือศรัทธาที่ยากจะพิสูจน์ให้กระจ่างชัดได้ดั่งการพิสูจน์ทฤษฎีบทเรขาคณิต หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ชาวภูเก็ตรู้เพียงแต่ว่า พลังแห่งศรัทธานี้ได้หล่อเลี้ยงขวัญและกำลังใจพวกเขามาแต่ครั้งพรรพชน จนแม้เมื่อถึงยุคที่คอมพิวเตอร์มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต พวกเขาก็ยังคงสืบทอดศรัทธานี้ไว้อย่างมั่นคง บรรยากาศเทศกาลกินเจของเมืองไทยในปัจจุบัน คนทั่วไปไม่เว้นแม้กระทั่งหนุ่มสาวยุคใหม่ต่างก็หันมากินเจกันมากขึ้นทั้งนี้ อาจจะมาจากกระแสเรื่องห่วงใยสุขภาพมากกว่าความเชื่อโบราณ เพราะการงดเนื้อสัตว์ทุกชนิดและหันมาบริโภคแต่ผัก ผลไม้นั้นจะช่วยชำระล้างของเสียออกจากร่างกาย หรือคนยุคนี้เรียกว่า "การล้างพิษ" ซึ่งจะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น
|
อ้างอิง
สำนักพิมพ์แสงแดด. 2538. อาหารเจ. แสงแดด. กรุงเทพฯ
จุลจักร. 2544.ประโยชน์ของการกินเจในมุมมองที่แตกต่าง. สนองโอฐสภากาชาดไทย. 150(ตุลาคม-ธันวาคม): 37-38.
ธีรภาพ โลหิตกุล. 2543. เปิดตาที่สาม พิสูจน์ความงามแห่ง เทศกาลกินเจภูเก็ต. ว.สายใจไฟฟ้า. (กรกฎาคม 2543): 23-26.
ปาณี อนันต์โรจน์. EAT SENSES หลากหลายของความพอใจ. 2547. METRO LIFE คู่มือใช้ชีวิตในสังคมเมือง. 1,36(9-5 ตุลาคม): 36-38.
สำนักพิมพ์แสงแดด. 2538. อาหารเจ. แสงแดด. กรุงเทพฯ
จุลจักร. 2544.ประโยชน์ของการกินเจในมุมมองที่แตกต่าง. สนองโอฐสภากาชาดไทย. 150(ตุลาคม-ธันวาคม): 37-38.
ธีรภาพ โลหิตกุล. 2543. เปิดตาที่สาม พิสูจน์ความงามแห่ง เทศกาลกินเจภูเก็ต. ว.สายใจไฟฟ้า. (กรกฎาคม 2543): 23-26.
ปาณี อนันต์โรจน์. EAT SENSES หลากหลายของความพอใจ. 2547. METRO LIFE คู่มือใช้ชีวิตในสังคมเมือง. 1,36(9-5 ตุลาคม): 36-38.
ภาพประกอบ
สำนักพิมพ์แสงแดด. 2538. อาหารเจ. แสงแดด. กรุงเทพฯ
ธีรภาพ โลหิตกุล. 2543. เปิดตาที่สาม พิสูจน์ความงามแห่ง เทศกาลกินเจภูเก็ต. ว.สายใจไฟฟ้า. (กรกฎาคม 2543): 23-26.
สำนักพิมพ์แสงแดด. 2538. อาหารเจ. แสงแดด. กรุงเทพฯ
ธีรภาพ โลหิตกุล. 2543. เปิดตาที่สาม พิสูจน์ความงามแห่ง เทศกาลกินเจภูเก็ต. ว.สายใจไฟฟ้า. (กรกฎาคม 2543): 23-26.
รวบรวมข้อมูลโดย : งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น